สหกิจศึกษาคืออะไร

สหกิจศึกษา (Co-operative Education:Co-op)

สหกิจศึกษา (Co-operative Education:Co-op) เป็นระบบการศึกษาที่เน้นประสบการณ์ที่ได้รับจากการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ (Work-based learning) โดยที่สถาบันอุดมศึกษาจัดให้นิสิตที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี ไปปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการอย่างเป็นระบบก่อนสำเร็จการศึกษา โดยที่นิสิตจะต้องปฏิบัติงานจริงแบบเต็มเวลาตรงตามสาขาวิชาชีพและเป็นประโยชน์ต่อสถานประกอบการ เสมือนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่หรือพนักงานปฏิบัติงานชั่วคราว ณ สถานประกอบการที่ให้ความร่วมมือ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 16 สัปดาห์ (1 ภาคการศึกษา) ซึ่งในการปฏิบัติงานนั้นสถานประกอบการอาจกำหนดให้นิสิตสหกิจศึกษาปฏิบัติงานในตำแหน่ง ที่มีหน้าที่รับผิดชอบที่แน่นอน โดยงานที่ได้รับมอบหมายเป็นงานที่มีคุณภาพ เช่น ผู้ช่วยวิศวกร ผู้ช่วยนักวิชาการ ผู้ช่วยงาน ฯลฯ หรือ กำหนดงานเป็นโครงงานพิเศษที่เป็นประโยชน์กับสถานประกอบการและสามารถทำสำเร็จได้ ภายใน 16 สัปดาห์ โดยสถานประกอบการจะจัดหาพี่เลี้ยง หรือพนักงานที่ปรึกษา (Mentor หรือ Job Supervisor) ทำหน้าที่กำกับและดูแลการทำงานของนิสิตสหกิจศึกษา ทั้งนี้ ในการปฏิบัติงานของนิสิตสหกิจศึกษา อาจจะได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการ หรือค่าตอบแทนอื่นตามความ เหมาะสมจากสถานประกอบการ และหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจจะมีการประเมินผลการปฏิบัติงานโดยอาจารย์นิเทศและพนักงานที่ปรึกษาของนิสิตสหกิจศึกษา

ความเป็นมาของสหกิจศึกษา

สืบเนื่องจากสหกิจศึกษา มีความจำเป็นต่อการพัฒนานิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา เพราะเป็นวิธีการผสมผสานการเรียนในห้องเรียนร่วมกับการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ เริ่มต้นพัฒนาในประเทศอังกฤษและประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี พ.ศ. 2446-2452 เรียกและรู้จักกันว่า “ระบบสหกิจศึกษา” (Cooperative Education: Co-op) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 เป็นต้นมา ระบบนี้ก้าวหน้ามากเนื่องจากได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาลและความร่วมมือของสถานประกอบการ ปัจจุบันสถานศึกษาและสถานประกอบการทั่วโลก มากกว่า 900หน่วยงาน จาก 39 ประเทศ นำระบบสหกิจศึกษามาใช้และพัฒนาจนถึงระดับที่มีการแลกเปลี่ยนนิสิตนักศึกษาเข้าปฏิบัติงานในระดับนานาชาติ ในปี พ.ศ.2526 ได้มี การตั้งสมาคมสหกิจศึกษานานาชาติ (World Association for Cooperative Education: WACE) โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสนับสนุนและแลกเปลี่ยนนักศึกษาสหกิจศึกษาในระดับนานาชาติ สำหรับสหกิจศึกษาในประเทศไทยนั้น คำว่า “สหกิจศึกษา” เป็นศัพท์บัญญัติโดย ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่นำระบบสหกิจศึกษาเข้ามาใช้ในประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เมื่อปี พ.ศ. 2536 โดยก่อตั้งโครงการสหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ

โครงการสหกิจศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร

ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยนเรศวร มุ่งผลิตบัณฑิตให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ดังนี้ เก่งงาน โดยให้นิสิตสามารถนำเอาความรู้ไปประยุกต์ในการประกอบอาชีพได้ เก่งคน ให้รู้จักสื่อสารกับคนอื่นและสามารถร่วมงานกับคนอื่น มีสังคม มีมิตรและกัลยาณมิตร เก่งคิด ให้มีนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน มีเหตุผล เก่งครองชีวิต ให้สามารถแก้ปัญหา เพราะทุกปัญหามีทางออกเสมอ และ เก่งพิชิตปัญหา ให้มีทักษะในการแก้ปัญหาอย่างมีระบบ มีเหตุผลและข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ซึ่งคุณลักษณะเหล่านี้ไม่สามารถเรียนรู้และฝึกปฏิบัติได้จากห้องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นจะต้องนำเอาความรู้ ความสามารถที่ศึกษามาตามที่หลักสูตรกำหนด โดยใช้กระบวนการของ “สหกิจศึกษา” คือ ไปปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการในฐานะพนักงานคนหนึ่ง ดังนั้น สถานประกอบการจึงเป็นสถานที่ที่สำคัญอย่างยิ่งและถือว่าเป็น ห้องปฏิบัติการจริงของตลาดแรงงาน และยังเป็นหน่วยงานที่ช่วยตรวจสอบกระบวนการผลิตบัณฑิต การจัดการเรียนการสอน หลักสูตร สาขาวิชาต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยอีกด้วย มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงมีเป้าประสงค์อย่างชัดเจนที่จะดำเนินงานสหกิจศึกษาตามมาตรฐานและการประกันคุณภาพการดำเนินงานสหกิจศึกษา ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าผลผลิตที่ได้จากการดำเนินงานสหกิจศึกษามีคุณภาพตามลักษณะที่พึงประสงค์จะช่วยให้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยที่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร เป็น ผู้ที่มีความรอบรู้วิชาการ เชี่ยวชาญวิชาชีพ มีคุณภาพและศักยภาพตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคต จึงได้ดำเนินการและพัฒนาโครงการสหกิจศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวรอย่างต่อเนื่องทุกปีการศึกษา

วัตถุประสงค์

  1. ส่งเสริม สนับสนุน ให้ตอบสนองต่อนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ในการ พัฒนาสหกิจศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา
  2. เพิ่มประสบการณ์และพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพ ตลอดจนการพัฒนาตนเองแก่นิสิตในรูปแบบที่มีคุณค่าเหนือกว่าการฝึกงาน
  3. เปิดโอกาสให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพบัณฑิต
  4. นำผลจากการติดตามประเมินผลโครงการมาใช้สำหรับการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ของมหาวิทยาลัยนเรศวรให้ทันสมัยและตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
  5. ส่งเสริมและสร้างความสัมพันธ์อันดี ที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือที่ดีในอนาคต ระหว่างมหาวิทยาลัยนเรศวรกับสถานประกอบการ

ลักษณะงานของสหกิจศึกษา

  1. ปฏิบัติงานเสมือนหนึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราวของสถานประกอบการ
  2. ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่มีหน้าที่รับผิดชอบที่แน่นอน โดยงานที่ได้รับมอบหมายเป็นงานที่มีคุณภาพ เช่น ผู้ช่วยวิศวกร / ผู้ช่วยนักวิชาการ / ผู้ช่วยงาน ฯลฯ
  3. ทำงานเต็มเวลา (Full Time)
  4. ระยะเวลาปฏิบัติงานเต็ม 1 ภาคการศึกษา (16 สัปดาห์ หรือ 4 เดือน)
  5. มีค่าตอบแทนตามสมควร